วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แกงป่า เคล็ดลับทำแกงป่าให้อร่อย

แกงป่า
แกงป่า เป็นอาหารที่นิยมใส่ผักลงไปหลากหลายชนิดตามที่สะดวกในการหาใส่ลงไปของชาวบ้านในชนบท อาจจะไม่ค่อยเน้นเนื้อสัตว์มากนัก จึงให้พลังงานและไขมันค่อนข้างต่ำ แต่มีกากใยอาหารสูง  ให้แร่ธาตุและวิตามินหลายอย่าง แต่ทั้งนี้ต้องระวังไม่ใส่ผักลงไปปรุงนานเกินไป เพื่อสงวนคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้ การรับประทานแกงป่าที่มีผักเยอะๆ จะช่วยปรับสมดุลร่างกาย ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยลดความดันโลหิต  ได้เป็นอย่างดี แกงป่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในการทำอาหารโดยการนำผักพื้นบ้านและสมุนไพรหลากหลายชนิดมาปรุงอย่างง่าย ๆ แต่ได้รสกลมกล่อมจึงดูคล้ายๆ กับการปรุงยาให้อยู่ในรูปอาหารที่อร่อยน่ารับประทาน วันนี้มีวิธีทำแกงป่าง่ายๆ ที่ปรับสูตรนิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้ถูกปาก(ผมเอง)ยิ่งขึ้น ไปดูวิธีทำกันดีกว่าครับส่วนประกอบและวิธีทำ แกงป่า
1 เตรียม พริกแกงเผ็ด 2 ช้อนโต๊ะ , ตะไคร้ 1 ต้น , ข่าซอย 5 แว่น , เนื้อหมูหั่นเป็นชิ้นพอคำ 300  กรัม , มะเขือเปราะผ่าซีก 4-5 ลูก มะเขือพวง 50 กรัม , กระเพราะเด็ดเอาแต่ใบ 1 ถ้วย , กระชายซอย 2 ช้อนโต๊ะ , พริกไทยอ่อน 2 ช่อ , พริกชี้ฟ้าแดง 2 เม็ด , (ถ้ามีผักอื่นก็ใส่ลงไปได้อีกตามชอบ) , น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ , น้ำตาลทราย 1/2 ช้อนชา , น้ำเปล่า 2 ถ้วย

2 นำตะไคร้และข่ามาโขลกให้ละเอียดแล้วใส่พริกแกงลงไปโขลกรวมให้เข้ากัน

3 น้ำเปล่าใส่หม้อ ยกขึ้นตั้งไฟ เดือดดีแล้วใส่พริกแกงลงไปคนให้พริกแกงละลายทั่วดีแล้วรอให้น้ำแกงเดือด ใส่เนื้อหมูลงไปเนื้อหมูสุกดีแล้ว ก็ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล จากนั้นใส่ผักทั้งหมดลงไป ผักเริ่มสุกดีแล้วก็ยกลงจากเตา เสริฟได้เลย

เคล็ดลับการทำ แกงป่า
1 ถ้าเราสามารถทำพริกแกงเองได้จะดีมาก เพราะพริกแกงตำเองใหม่ๆ จะหอมน่ากินกว่าพริกแกงสำเร็จรูป บางสูตรเขาจะเอาพริกแกงลงไปผัดกับน้ำมันประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะก่อนเพื่อให้ได้กลิ่นหอมแล้วค่อยเติมน้ำลงไป วิธีนี้นำแกงจะหอมน่ากินกว่ากว่าใส่พริกแกงลงไปในน้ำแกงตรงๆ

2 เมนูนี้สามารถดัดแปลงใช้ซี่โครงอ่อนหมูใส่ลงไปก็ได้ แต่ให้นำซี่โครงหมูไปลวกให้เกือบสุกก่อน เพื่อล้างเศษเลือดในกระดูกออกไป โดยเศษเลือดจะลอยปนขึ้นมากับฟองน้ำเดือดให้ตักทิ้งไป แล้วค่อยใส่ซี่โครงหมูที่ลวกเกือบสุกแล้วลงไปในน้ำแกง วิธีนี้จะช่วยให้น้ำแกงใสน่ากินไม่ขุ่นขุ้น

3 การใส่ผักลงไปในน้ำแกงบนเตา ให้ใส่ผักที่สุกยากลงไปก่อน ผักที่สุกง่ายใส่ทีหลัง และไม่ต้องรอให้ผักสุกมากเกินไป เพื่อให้ผักยังคงมีสีสดน่ากินและสงวนคุณค่าทางโภชนาการของผักไว้
เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www.9nha.com

ไม่มีความคิดเห็น: