วันจันทร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2564

ชาใบเตย ประโยชน์เยอะกว่าที่คิด

ทำชาใบเตย
เตยหอมหรือใบเตย เป็นต้นไม้ท้องถิ่น พบว่าปลูกได้ทั่วไปทุกภาคของไทย ชอบดินที่สมบูรณ์และมีความชื้นเยอะๆ นิยมใช้ทำสีในขนมไทยมาแต่โบราณ ปัจจุบันนิยมใช้ใบเตยมาใช้หลายอย่างเช่น ใช้วางดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ในรถหรือในบ้าน , ทำชาใบเตย หรือ ใช้ผสมในเครื่องสำอางเช่นครีม ยาสระผม เป็นต้น

เตย หรือเตยหอม

การปลูกต้นเตยหอม วิธีปลูกต้นเตยที่ง่ายที่สุดคือการแยกเหง้าไปปลูก เตยชอบดินที่ชุ่มชื้นและทนต่อสภาพดินแฉะได้ดี แต่ก็ไม่ควรปลูกในที่น้ำท่วมขังนานๆ  ถ้าปลูกเตยในกระถางก็ควรดูแลเรื่องน้ำอย่าให้ดินปลูกแห้ง และควรปลูกต้นเตยในบริเวณที่มีแสงแดดรำไรต้นเตยหอมจะโตและสมบูรณ์ดีกว่าปลูกในที่โล่งแดดจัดๆ

ต้นเตย หรือเตยหอม
ประโยชน์ของใบเตย ใบเตยมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ให้ความรู้สึกที่สดชื่น นอกจากจะใช้ใบเตยสดไปวางเพื่อดับกลิ่นภายในห้องหรือภายในรถยนต์แล้ว ยังนิยมใช้ใบเตยทำสีผสมอาหาร หรือใช้ทำขนมหลายอย่าง ในตำรายาไทยพื้นบ้านบ่งบอกไว้ว่า เตยมีสรรพคุณดังนี้
ใบเตยที่ตัดมาใช้ทำชาใบเตย
ใช้บำรุงหัวใจ โดยการนำใบเตยสดมาคั้นน้ำรับประทาน ครั้งละ 2 - 4 ช้อนโต๊ะ
ดับกระหาย นำใบเตยสดมาตำหรือปั่นให้ละเอียดแล้วเติมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาแต่น้ำดื่ม
รักษาโรคผิวหนัง  นำใบเตยมาตำแล้วมาพอกบนผิวที่เป็นโรค
รักษาโรคเบาหวาน ใช้รากต้นเตย 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
ใช้ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต ใช้ต้นเตยหอม 1 ต้น หรือรากครึ่งกำมือต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ใบเตยหั่นตากแดดจนแห้งแล้วชงน้ำดื่มก็ได้
ใช้บำรุงผิวหน้า  นำใบเตยหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วปั่นกับน้ำสะอาดเล็กน้อยจนได้เนื้อครีมละเอียดข้นเหนียวแล้วให้นำมาพอกหน้าทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที แล้วล้างออก จะทำให้ผิวหน้าชุ่มชื้น
ใบเตยหั่น ตากลมจนแห้ง
 ใบเตยมีสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด  เช่น คาร์โบไฮเดรต , โปรตีน , เบต้าแคโรทีน , วิตามินซี , วิตามินบี 2 , วิตามินบี 3 , แคลเซียม , เหล็ก และฟอสฟอรัส  ดังนั้นเตยจึงมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ปลูกง่ายไม่ต้องการการดูแลรักษาที่ยุ่งยาก ไม่ค่อยพบว่ามีโรคและแมลงรบกวน ดังนั้นหากมีพื้นที่ว่างๆ ปลูกเตยไว้เก็บใบชงชาหอมๆ ดีต่อสุขภาพแน่นอน
คั่วใบเตย ทำชาใบเตย
การทำชาใบเตย ให้ตัดใบเตยใบล่างของลำต้น เลือกที่มีสีเขียวเข้มจะมีกลิ่นหอมของใบเตยและรสชาติที่ดีกว่าการใช้ใบอ่อน เมื่อได้ใบเตยมาแล้วก็นำมาล้างทำความสะอาด ผึ่งลมให้สะเด็ดน้ำแล้วนำมาซอยเล็กๆ ตามต้องการ นำไปวางผึ่งลมจนใบเตยแห้งจะดีกว่านำไปตากแดดแรงๆ โดยตรง เพราะกลิ่นหอมของเตยจะสูญเสียน้อยกว่า จากนั้นนำไปคั่วด้วยไฟอ่อนๆ โดยใช้มือคั่วใบเตยแทนตะหลิวก็ได้จะได้เช็คความร้อนขณะคั่วไปด้วย คั่วจนใบเตยแห้งดีแล้วก็ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วค่อยเก็บในภาชนะปิดสนิท ไว้ชงชาใบเตยหอมๆ รสชาติดีเพื่อดื่มเป็นชาสุขภาพ
ชงชาใบเตย
การชงชาใบเตย ให้ต้มน้ำให้เดือดก่อน แล้วรอให้น้ำเย็นตัวลงเล็กน้อยเหลือซัก 80-85 องศาเซลเซียสก็พอ ใช้ใบเตยคั่วที่เตรียมไว้ใส่ในกา เติมน้ำร้อนลงไปรอซัก 3 นาที ก็รินน้ำชาใบเตยดื่มได้เลย เป็นชาร้อนหอมๆ กลิ่นใบเตยที่ดีต่อหัวใจและยังช่วยลดความดันโลหิต และช่วยปรับสมดุลย์น้ำตาลในเลือดได้ด้วย

ใบเตยที่ผึ่งลมจนแห้ง รอคั่วทำชาใบเตย
เคล็ดลับการชงชาใบเตย 
1 เราสามารถตัดใบเตยสดๆ มาชงด้วยน้ำร้อนเป็นชาใบเตยเลยก็ได้ แต่เท่าที่ทำกินบ่อยๆ ใบเตยสดเมื่อโดนน้ำร้อนทั้งกลิ่นและสีรวมทั้งความหอมจะหายไป อีกทั้งรสชาติที่ได้ก็ไม่อร่อยมันมีรสเฝื่อนออกขมสู้ชงชาใบเตยด้วยใบเตยที่คั่วไม่ได้จะได้รสชาติและกลิ่นหอมที่ดีกว่ามาก
2 ใบเตยมีน้ำมันหอมระเหยและวิตามินหลายตัวที่ถูกทำลายได้ง่าย ดังนั้นการใช้ไฟแรงคั่ว หรือแม้แต่ใช้น้ำร้อนจัดๆ ชงชาใบเตย ก็จะได้ชาที่รสชาติและกลิ่นหอมสู้ใช้น้ำร้อนที่อุ่นลงมาหน่อยไม่ได้
3 การดื่มชาเพื่อสุขภาพ แนะนำว่าควรดื่มตอนร้อนๆ หรืออุ่น ไม่ควรเติมน้ำแข็งหรือปรุงรสด้วยน้ำตาล ก็จะเป็นชาใบเตยที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
ต้นเตยหอม
ติดตามสาระดีๆ อีกมากมาย ได้ที่ http://tourthai.online

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: